กลับสู่ด้านบน

เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ : ตัวพลิกเกมแห่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและอวัยวะ

Engineers develop process to 3-D print cells to produce human tissue such as ligaments and tendons
เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมีศักยภาพมากในวงการสุขภาพ ในปัจจุบันเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางที่สุด ในการพิมพ์โครงเลี้ยงเซลล์ กระดูกเทียม (สำหรับการผ่าตัดใส่กระดูกเทียม) และเครื่องมือทางการแพทย์ อย่างเช่น ฟันปลอม หรือเครื่องช่วยฟัง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีคุณสมบัติที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับตัวบุคคลแต่ละคนได้ จึงช่วยลดเวลาในการผ่าตัดและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงอย่างฮวบฮาบ ส่วนตัวพลิกเกมในวงการการพิมพ์ 3 มิติในอนาคตน่าจะเป็นการ พิมพ์เนื้อเยื่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ตับ หัวใจ หู มือ ตา หรือการสร้างหน่วยเนื้อเยื่อที่เล็กที่สุดที่สามารถ เติบโตและทำงานได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะขนาดใหญ่ต่อไป โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแทนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เสียหาย

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติสำหรับพิมพ์ภาพเซลล์ของเนื้อเยื่อของมนุษย์ ยกตัวอย่าง เช่น เอ็นยึดข้อ (ligaments) และเอ็นยึดกระดูก (tendons) เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงการฟื้นตัวของผู้ป่วย โดยนักวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการสะสมของเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) จากไขมันของมนุษย์และเซลล์กระดูกของมนุษย์ โดยใช้การพิมพ์ภาพ 3 มิติ ที่อาศัยหลักการของ microfluidic flow cell array (MFCA) เพื่อควบคุมการเกาะตัวกันของเซลล์ในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อทดแทนให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น โดยผู้ป่วยที่เอ็นยึดข้อและเอ็นยึดกระดูกเสื่อมสภาพ หรือเกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท สามารถรักษาได้โดยอาศัยการพิมพ์ภาพ 3 มิติของเนื้อเยื่อทดแทนและในที่สุดก็จะได้รับการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ

ธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติเพื่อการแพทย์ถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญภายในปี 2025 บริษัทที่เป็นผู้นำในแวดวงนี้ ได้แก่ Stratasys Ltd., Arcam AB, Organovo Holdings Inc., Johnson & Johnson Services Inc. และ Stryker

ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพ 3 มิติอาจจะเข้ามามีบทบาทในวงการสุขภาพและความงาม โดยจะทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น