
ยีนทำให้ยุงชอบกัดเรามากกว่าคนอื่น
นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามพิสูจน์ว่า ทำไมยุงจึงชอบกัดบางคนมากเป็นพิเศษ ในขณะที่บางคนมีเพียงยุงมาตอมเท่านั้น งานวิจัยที่ผ่านมาเผยว่า ความดึงดูดต่อยุงนั้นเกี่ยวข้องกับหมู่เลือด หรือแบคทีเรียที่ผิวหนังของแต่ละคน แต่การทดลองครั้งใหม่นี้เผยว่า ยีนก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ศึกษาฝาแฝดแท้ 18 คู่ และฝาแฝดเทียมอีก 19 คู่ โดยเป็นเพศหญิงทั้งหมด
เนื่องจากฝาแฝดแท้มี DNA เหมือนกันทุกประการ นักวิทยาศาสตร์จึงมักจะใช้ฝาแฝดแท้ในการศึกษาว่ายีนส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงทุกอย่าง ตั้งแต่ความอ้วนไปจนถึงระดับของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในร่างกาย
ในการศึกษาเรื่องยุงนี้ ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะต้องวางมือทั้งสองข้างลงบนปลายด้านหนึ่งของท่อรูปตัว Y ในขณะที่แฝดของเธอวางมือทั้งสองข้างบนปลายท่อรูปตัว Y อีกด้านหนึ่ง จากนั้น ยุงจะถูกปล่อยเข้ามาจากปลายด้านล่างของท่อ และนักวิจัยจะบันทึกว่ามือของแฝดคนใดที่ยุงชอบกัดมากกว่า
ยุงอาจจะบินเข้าหากลิ่นเฉพาะตัวบางกลิ่น ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากยีน (งานวิจัยปี 2005 ในวารสาร The journal Chemical Senses พบว่าสุนัขสามารถดมกลิ่นเพื่อตามหาคู่แฝดที่เป็นแฝดแท้ได้ แม้ว่าแฝดทั้งสองจะไม่ได้อาศัยอยู่บ้านเดียวกันก็ตาม)
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความดึงดูดยุงของผู้เข้าร่วมนั้นจะมีความเหมือนกันในกลุ่มที่เป็นแฝดแท้มากกว่ากลุ่มแฝดเทียม อ้างอิงจากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร The journal PLOS ONE
นักวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยต่อไป เพื่อให้เข้าใจกลไกทางพันธุกรรมที่อาจทำให้ยุงเข้าหาบางคนมากกว่าคนอื่น ซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถนำไปสู่วิธีการในการควบคุมและกำจัดแมลงได้ดีกว่าในปัจจุบัน
“ในอนาคต เราอาจจะสามารถพัฒนาให้ร่างกายเราได้รับการปกป้องจากแมลงได้โดยการกินยาเพียง 1 เม็ด และสามารถทดแทนการทาโลชั่นกันยุงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้” James Logan นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา แห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าว