กลับสู่ด้านบน

โรคมะเร็งหลอดอาหาร

โรคมะเร็งหลอดอาหารเกิดจากที่บริเวณหลอดอาหารมีก้อนเนื้อเจริญขึ้น และกลายเป็นเนื้อร้าย โดยจะเกิดจากเนื้อเยื่อชั้นในโตออกสู่ผนังด้านนอก มะเร็งอาจกระจายผ่านผนังหลอดอาหารจะสามารถเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอก และอวัยวะใกล้เคียง มะเร็งหลอดอาหารยังสามารถกระจายสู่ปอด ตับ กระเพาะอาหาร และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งหลอดอาหารประมาณ 220,000 คน ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่พบโรคมะเร็งหลอดอาหารจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ40 ปีขึ้น และผู้ชายจะมีอัตราการเกิดโรคมากกว่าผู้หญิง

อาการของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
  • โรคมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มแรกมักจะไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการ (เนื่องจากมะเร็งหลอดอาหารมักจะลุกลามจากเยื่อบุผิวลงไปที่ผนัง ไม่ได้โตออกมาในท่อจนกว่ามันจะมีขนาดใหญ่แล้วจริง ๆ ดังนั้น โรคจึงมักตรวจพบในระยะที่ลุกลามแล้ว) แต่เมื่อเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการแสดงคล้ายกับอาการของโรคที่พบในบริเวณหลอดอาหาร คือ มีอาการกลืนอาหารลำบาก กลืนไม่ลง รู้สึกกลืนแล้วเจ็บหรือติดขัดที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับคอจนถึงระดับลิ้นปี่ และสักพักอาจอาเจียนกลับออกมา โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในตอนแรกผู้ป่วยจะกลืนอาหารแข็ง ๆ (เช่น ข้าวสวย เนื้อสัตว์ ขนมปัง หรือผักสด) ได้ลำบาก แต่ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจนไปอุดตันหลอดอาหารทั้งหมดก็จะทำให้กลืนอาหารอ่อน ๆ (เช่น ข้าวต้ม) หรืออาหารที่บดแล้วไม่ได้ จนในที่สุดแม้แต่กลืนน้ำหรือน้ำลายก็ยังลำบากหรือกลืนไม่ได้
  • แน่นหน้าอกหรือแสบร้อนในช่องอก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดเจ็บที่กระดูกหน้าอกหรือในลำคอด้วย
  • รู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน สะอึก สำลักอาหารบ่อย (ผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเป็นปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร) หรือไอในขณะกินอาหาร
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกินอาหารไม่ได้
  • อาจมีน้ำลายหรือเสมหะปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • อาจถ่ายอุจจาระเหลวเละเป็นสีดำ (เนื่องจากมีเลือดออกจากก้อนมะเร็ง)
  • เมื่อโรคลุกลามเข้าประสาทกล่องเสียง ผู้ป่วยอาจมีเสียงแหบลง
  • อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้าหรือที่คอโต (เนื่องจากมะเร็งที่แพร่กระจายไป)
  • มีอาการแสดงที่เกิดจากโรคมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปวดหลัง เมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระดูกสันหลัง

หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารเสมอไป แต่อาจเป็นโรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลอดอาหารก็ได้ แต่ก็ควรไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อให้สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากมะเร็งหรือโรคอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งหลอดอาหาร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ อาทิ

  • อายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปีมีความเสี่ยงสูงสุด
  • เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า
  • การสูบบุหรี่ ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารโดยเฉพาะชนิด squamous cell
  • ภาวะที่หลอดอาหารโดนกรดในกระเพาะกัดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น โรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่ทำให้เยื่อบุภายในหลอดอาหารเกิดการบาดเจ็บเสียหายต่อเนื่องเรื้อรัง
  • ภาวะของหลอดอาหารที่เรียกว่า Barrett’s esophagus ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดในผู้ที่มีการอักเสบของหลอดอาหารจากกรดในกระเพาะอาหารทำลายเซลล์บุผนังหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งชนิด adenocarcinoma ได้
  • การรับประทานอาหารที่มีผัก ผลไม้ และแร่ธาตุต่ำ
  • ภาวะอ้วน
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมของแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่ชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
  • เคยเป็นมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ

กลุ่มเสี่ยงผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร

  • พันธุกรรม ครอบครัวเคยมีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารมาก่อน
  • ผู้ที่ติดการสูบบุหรี่ และดื่มสุรา
  • บริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา
  • ผู้ที่ได้รับสารไนโตรซามีนในปริมาณมาก เนื่องจากไนโตรซามีนเป็นสารก่อมะเร็ง
  • การขาดสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ
  • ผู้ที่รับประทานอาหารหมักดอง และอาหารที่ร้อนจัด ซึ่งอาหารจำพวกนี้มีสารไนไตร์ท และสารก่อมะเร็งอื่นผสมอยู่มาก
วิธีป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหาร

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีข้อแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  • การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารและเครื่องดื่มร้อนจัด การติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ
  • กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหลอดอาหารในระยะแรกตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ (มีเพียงการส่องกล้องติดตามในผู้ป่วยที่มีภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) ส่วนจะติดตามภายในระยะเวลาเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่ชัด) ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • สำหรับในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นโรคกรดไหลย้อน มีภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร หรือในผู้ที่มีประวัติการกลืนน้ำกรด/ด่าง การกลืนน้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุของหลอดอาหาร ก็ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่าง ๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การติดเชื้อโรคต่าง ๆด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน