กลับสู่ด้านบน

รู้ทันก่อนเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง!!

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) จัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด เป็นมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทุกๆ อวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง ของกระเพาะอาหาร ของลำไส้เล็ก ของลำไส้ใหญ่ ของผิวหนัง ของโพรงจมูก และของไซนัส ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งของต่อมน้ำเหลืองเอง และของเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีสาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย ระยะโรค แนวทางการรักษา และความรุนแรงโรคคล้ายคลึงกัน

โดยปกติระบบน้ำเหลืองของร่างกายมีหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรค โดยการขนส่งน้ำเหลืองไปตามหลอดน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เมื่อต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ ปัญหาที่สำคัญคือ ภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีได้หลากหลายชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแต่ละชนิดของเซลล์มะเร็งจะมีความรุนแรงโรคต่างกัน อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำ เหลืองแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease เรียกย่อว่า HD/เอชดี หรือ มีอีกชื่อว่า Hodgkin’s lymphoma เรียกย่อว่า HL/เอชแอล) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma หรือ เรียกย่อว่า NHL/เอ็นเอชแอล)

 

อาการของผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่เป็นอาการเหมือนโรคทั่วไป ที่พบได้บ่อยในโรคระยะต้นๆ คือมีต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งใดโต (มักพบที่ลำ คอ) คลำได้ ไม่เจ็บ แต่เมื่อโรคลุกลาม นอกจากต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว อาจมีอ่อน เพลีย ซีด หรือ เมื่อเกิดกับอวัยวะอื่น ๆที่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลือง จะมีอาการเหมือนอวัยวะนั้น ๆอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน แขน ขาอ่อนแรง เมื่อเกิดกับสมอง หรือ ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง เมื่อเกิดกับกระเพาะอาหาร

นอกจากนั้น ยังมีอาการที่เป็นตัวบอกว่าโรครุนแรง เรียกว่า อาการ บี (B symptoms) ซึ่งทุกอาการเกิดโดยยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด ได้แก่ มีไข้สูงเป็นๆหายๆ เหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน และน้ำหนักลดมากกว่า 10% ใน 6 เดือน แต่เมื่อไม่มีอาการเหล่านี้ เรียกว่า อาการ เอ (A symptoms) ซึ่งโรครุนแรงน้อยกว่า

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะมีอายุตั้งแต่ 56 ปีขึ้นไป และจะเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ซึ่งก็เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่หากเราตรวจพบเร็วเท่าไหรก็จะทำให้มีโอกาสรักษาให้หายได้ ต่างกันอยู่ที่ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในส่วนอื่น ๆของร่างกาย และอาจจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ คือ

  1. การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส เอชไอวี (HIV) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (AIDS)
  2. การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น ชนิดทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ (H. pylori/เอชไพโลริ/เอชไพโลไร)
  3. พันธุกรรม
  4. โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) บางชนิด เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ ชนิดไม่ติดเชื้อ
  5. มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานในการรักษาโรคโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ
  6. อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนมีอาชีพเกษตรกรรม

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  1. ผู้ดื่มสุราและสูบบุหรี่ต่อเนื่อง รวมถึงชอบกินอาคารเค็มและรสจัด
  2. ความกดดันจากภาวะเครียดและภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลง รวมถึงความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
  3. ผู้ที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ดี ติดเที่ยวและเล่นการพนันตอนกลางคืน
  4. สัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อเนื่อง

 

แนวทางการป้องกันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โดยทั่วไปอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มักจะกินเวลานาน และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น จะมีอาการ คือ พบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมักไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน นอกจากนี้ยังมีอาการ ไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวกต่อมทอนซิลโต อาการคันทั่วร่างกาย ปวดศีรษะ  ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี เพศชาย เนื่องจากพบมากกว่าเพศหญิง การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ผู้ป่วย HIV และ ผู้ป่วยโรค SLE เป็นต้น ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค เพราะหากรักษาในระยะเริ่มต้น สามารถหายขาดได้

การหลีกเลี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี รับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจ ให้แจ่มใส จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง