กลับสู่ด้านบน

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากจึงพบในผู้ชายเท่านั้น และเป็นโรคที่เกิดจากการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะแสดงอาการต่อเมื่อโรคได้พัฒนาไปมากแล้ว เช่นเดียวกับโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจและระมัดระวังเรื่องสุขภาพอยู่เสมอ โดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) คือ อวัยวะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะของเพศชาย มีหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อลื่นที่อยู่ในน้ำอสุจิและช่วยปกป้องสารพันธุกรรม (DNA) ของอสุจิ จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย โดยอวัยวะนี้จะอยู่ในส่วนลึกบริเวณโคนของอวัยวะเพศชายในช่องท้องน้อย อยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ตัวต่อมจะแบ่งออกเป็น 2 ซีก และมีท่อปัสสาวะอยู่ตรงกลาง

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้มากในผู้ชาย โดยมักพบได้ในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (พบได้บ่อยในผู้ชายอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ส่วนในช่วงอายุ 40-60 ปี อาจพบได้แต่น้อย) ในสหรัฐอเมริกาพบคนเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงถึง 70-80% เมื่ออายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ทั่วโลกพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้ชายทั้งหมดรองจากมะเร็งปอด โดยในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2551 พบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงถึง 186,000 ราย และจากสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2557 คาดว่าจะพบผู้ป่วยใหม่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากถึง 233,000 คน หรือคิดเป็น 24% ของมะเร็งทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2544-2546 พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ 5.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน

อาการโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

เซลล์ในต่อมลูกหมากที่โตผิดปกติขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นก้อนมะเร็งและแพร่กระจายอยู่ในต่อมลูกหมาก ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด (แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปนได้) แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาเซลล์ที่ผิดปกติดังกล่าวจะเจริญเติบโตและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด และตับ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา และทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะพบโรคนี้ได้มากในผู้ชายสูงอายุที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป (อายุโดยเฉลี่ยคือประมาณ 70 ปี และพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยนั้นจะมีอายุมากกว่า 65 ปี)
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้อง (บุคคลในครอบครัวสายตรง) เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า ส่วนการมีญาติผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้สูงขึ้นเช่นกัน
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้มากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ในขณะที่ชาวเอเชียจะพบได้น้อยกว่า (พบได้สูงสุดในชายชาวสแกนดิเนเวีย และพบได้ต่ำสุดในชายชาวเอเชีย)
  • อาหาร โรคนี้อาจมีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ให้พลังงานสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคผักและผลไม้น้อย
  • การสูบบุหรี่ พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เล็กน้อย แต่ยังต้องมีการศึกษาต่อไป
  • การมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ในเลือดสูง เช่น จากการใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นเวลานาน
  • ความอ้วน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะพบได้มากในคนอ้วน และมักจะเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงและรักษาได้ยากกว่าคนที่ไม่อ้วน (มีงานวิจัยพบว่า มะเร็งต่อมลูกหมากอาจเชื่อมโยงกับการเป็นโรคอ้วน และอาจเพิ่มความรุนแรงของโรคและส่งผลให้ยากต่อการรักษา)
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ มีการศึกษาว่า ต่อมลูกหมากอักเสบอาจเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
  • การทำหมันชาย ก่อนหน้านี้พบว่า ผู้ที่ทำหมันก่อนอายุ 35 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ทำหมัน แต่การศึกษาในปัจจุบันไม่พบความเสี่ยงดังกล่าว
การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยจำกัดการบริโภคแป้ง น้ำตาล เนื้อแดง อาหารที่มีไขมันมาก และเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 หน่วย (โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีสีเข้ม เช่น เขียว ส้ม แดง), ธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี), เต้าหู้ และถั่วต่าง ๆ

  • รับประทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เพราะมีการวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
  • รับประทานผลไม้ที่มีสารไลโคพีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะเขือเทศที่ปรุงสุก แตงโม ฝรั่งไส้ชมพู และมะละกอสุกให้มาก ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีซีลีเนียม (Silenium) เช่น ปลา อาหารทะเล ไก่ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ เพราะมีการวิจัยพบว่า สารนี้สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้
  • รับประทานวิตามินอี (Vitamin E) เพราะการรับประทานวิตามินอีเป็นประจำสามารถช่วยชะลออัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะพบได้มากในคนอ้วน
  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำตามควรแก่สุขภาพให้บ่อยครั้ง การออกกำลังกายมีผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายนั้นจะมีระดับของ PSA สูงกว่าผู้ที่ออกกำลังกายที่จะมีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือพูดคุยปรึกษากับแพทย์ถึงภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากของตนเอง
แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยทั่วไปแนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะประกอบไปด้วยการผ่าตัด การใช้รังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการรักษาด้วยฮอร์โมน ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง (มะเร็งลุกลามช้าหรือเร็ว) ระยะของโรคว่าแพร่กระจายแล้วหรือยัง ประโยชน์และผลข้างเคียงจากการรักษา (การรักษาส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ/การปัสสาวะ/การขับถ่ายหรือไม่) อายุและสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยรวมของผู้ป่วย รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษา มะเร็งต่อมลูกหมากจัดว่าเป็นโรคมะเร็งที่เป็นอันดับต้นๆของเพศชาย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัด และมักจะตรวจไม่พบในระยะแรกๆ ซึ่งกว่าจะตรวจพบเซลล์มะเร็งก็ลุกลามไปทั่วต่อมแล้ว แล้วยังสามารถลุกลามไปถึงอวัยวะอื่นได้อีก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค และเมื่อพบว่ามีความผิดปกติตามข้างต้นที่กล่าวไว้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที